ปุชฉา : การประเมินการปฏิบัติ
(Performance Assessment) มีลักษณะอย่างไร
วิสัชนา :
การประเมินการปฏิบัติ
(Performance Assessment) เป็นวิธีการประเมินงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติงาน
เพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาผู้เรียน การประเมินลักษณะนี้ ผู้สอนต้องเตรียมสิ่งสำคัญ
2 ประการ ได้แก่
1. ภาระงาน (Tasks) หรือกิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติเช่น
การทำโครงการ/โครงงาน การสำรวจ การนำเสนอ การสร้างแบบจำลอง การท่องปากเปล่า
การสาธิต การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ การแสดงละคร เป็นต้น
2. เกณฑ์การให้คะแนน (Scoring
Rubrics) การประเมินการปฏิบัติ อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะงานหรือประเภทกิจกรรม
ดังนี้
1. ภาระงานหรือกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงาน เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์
การจัดนิทรรศการ การ แสดงละคร แสดงการเคลื่อนไหว การประกอบอาหาร การประดิษฐ์ การสำรวจ
การนำเสนอ การจัดทำแบบจำลอง เป็นต้น ผู้สอนจะต้องสังเกตและประเมินวิธีการทำงานที่เป็นขั้นตอน
และผลงานของผู้เรียน
2. ภาระงานหรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างลักษณะนิสัย เช่น การรักษาความสะอาด
การรักษาสาธารณะสมบัติ /สิ่งแวดล้อม กิจกรรมหน้าเสาธง เป็นต้น
จะประเมินด้วยวิธีการสังเกต จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้เรียน
3. ภาระงานที่มีลักษณะเป็นโครงการ/โครงงาน เป็นกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงานที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
จึงควรมีการประเมินเป็นระยะๆ เช่น ระยะก่อนดำเนินโครงการ/โครงงาน
โดยประเมิน ความพร้อมการเตรียมการและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงานระยะระหว่าง ดำเนินโคงการ
/ โครงงานจะประเมินการปฏิบัติจริงตามแผน วิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้
และการปรับปรุงระหว่างการปฏิบัติ สำหรับระยะสิ้นสุดการดำเนินโครงการ/โครงงาน โดยการประเมินผลงาน ผลกระทบและวิธีการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ/โครงงาน
4. ภาระงานที่เน้นผลผลิตมากกว่ากระบวนการขั้นตอนการทำงาน เช่น การจัดทำแผนผัง
แผนที่ แผนภูมิ กราฟ ตาราง ภาพ แผนผังความคิด เป็นต้น อาจประเมินเฉพาะคุณภาพของผลงานก็ได้
ในการประเมินการปฏิบัตงาน ผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือ เพื่อใช้ประกอบการประเมิน เช่น
มาตรประมาณค่า แบบบันทึกพฤติกรรม แบบตรวจรายงาน แบบบันทึกผลการปฏิบัติ เป็นต้น