Sunday, 4 August 2013

การดำเนินงานเกี่ยวกับการนำผล O-NET

ปุจฉา : การดำเนินงานเกี่ยวกับการนำผล O-NET เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสำเร็จการศึกษา (Exit Exarmination) อย่างไร

วิสัชนา :

ดำเนินการดังนี้
1. ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระฯ (GPAX) : ผลสอบ O-NET
ปีการศึกษา 2555 ใช้ 80 : 20
ปีการศึกษา 2557 ใช้ 60 : 40
ปีการศึกษา 2558 ใช้ 70 : 30
ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป ใช้ 50 : 50

       วิธีการคิด 80 : 20
               1) ส่วน 80% ให้โรงเรียนแปลงเวลาเรียนเป็นหน่วยน้ำหนัก 40 ชั่วโมง = 1 หน่วยน้ำหนัก GPAX (ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม) = ผลรวมของ (หน่วยน้ำหนัก x ผลการเรียนรายวิชา) / หน่วยน้ำหนักทั้งหมด และนำ GPAX คูณด้วย 80%

               2) ส่วน 20% สทศ. ทำเกณฑ์กำหนดการเทียบคะแนน Normalization T score Norm จากผล O-NET ปี 2555 ใช้ระดับผลการทดสอบ และค่าน้ำหนักรายวิชาพื้นฐาน (โรงเรียนไม่ต้องทำ มีคำนวณให้ในโปรแกรม)

              3) นำส่วนที่ 1) และ 2) มารวมกันเป็น 100%

              4) การบันทึกผล จะปรากฏอยู่ด้านหลังของแบบ ปพ.1 จะมีผลการเรียนเฉลี่ย 8 กลุ่มสาระฯ และผลจากอัตราส่วน 80 : 20  ม.ต้น ตามแบบ ปพ.1 จะเป็นหน่วยกิตอยู่แล้ว ก็นำ GPAX มาคำนวณได้เลย

***กรณีนักเรียนไม่สอบ O-NET ด้วยเหตุผลจำเป็น เช่น ผ่าตัด ป่วยกระทันหัน จะมีการเปิดสอบเพิ่มเติม แต่ถ้าไม่สามารถเดินทางไปสอบได้ให้เป็นอำนาจของสถานศึกษา โดยคะแนนรวม 100% อาจน้อย ก็ให้จบได้ (ถือเป็นหลักจิตวิทยา)
2. โปรแกรมสำหรับจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา ได้แก่

.           โปรแกรม Student2551 เป็นโปรแกรมสำหรับงานทะเบียนและวัดผล ในการจัดทำข้อมูลนักเรียน ข้อมูลผลการเรียนเฉลี่ยของผู้เรียน และการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา ขณะนี้ใช้ได้เฉพาะโรงเรียนสังกัด สพม.และโรงเรียนสังกัดอื่นที่เปิดสอนระดับ ม.ปลาย

การประเมินการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้ UbD

ปุจฉา : การประเมินการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้ UbD ในเมื่อมีรายละเอียดเหมือนกับแผนการจัดการเรียนรู้ ครูจะต้องทำแผนการจัดการเรียนรู้อีกหรือไม่

วิสัชนา :


คุณครูต้องศึกษา ทำความเข้าใจว่าการออกแบบหน่วย UbD : Understanding by Design คือ อะไร และจะต้องดำเนินการอย่างไร การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สอนได้ยึดมาตรฐานการเรียนรู้หรือเป้าหมายการเรียนรู้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เราสามารถจัดแผนการจัดการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้ได้เลย อาจจัดเป็นรายชั่วโมง หรือรายตัวชี้วัด /กิจกรรม โดยแต่ละกิจกรรมจะมีการบันทึกหลังสอน มีเป้าหมายการเรียนรู้ในแต่ละชั่วโมง หรือรายตัวชี้วัด ครูประเมินผู้เรียน โดยใช้ระดับคุณภาพ แต่ถ้าตัวชี้วัดใดที่ครูเห็นว่าสำคัญ อาจตัดสินเป็นคะแนนได้เลย และสุดท้ายครูจะต้องตัดสินผู้เรียนว่าในหน่วยการเรียนรู้นี้นักเรียนรู้อะไร ทำอะไรได้ในหน่วยการเรียนรู้ และบันทึกหลังหน่วยการเรียนรู้ว่านักเรียน เป็นอย่างไรใช้วงจรคุณภาพการเรียนรู้ P-A-O-R

การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามแนวคิด Backward Design

ปุจฉา : การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามแนวคิด Backward Design ครูผู้สอนจะต้อง ดำเนินการอย่างไร

วิสัชนา :

ครูจะต้องทำความเข้าใจว่า Backward Design เป็นแนวคิดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่รับประกันว่าผู้เรียนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้หรือบรรลุเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ได้ ไม่แผนการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ตามแนวคิด Backward Design มีขั้นตอนสำคัญ ๆ 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ ซึ่งครูผู้สอนจะต้องตั้งคำถามและสร้างภาพในใจว่า ผู้เรียนรู้อะไร ทำอะไรได้ มีความสามารถอะไรบ้าง ตามมาตรฐานการเรียนรู้ เนื้อหาแบบใหนที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งควรมีอะไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดหลักฐานการเรียนรู้ ซึ่งครูผู้สอนจะต้องสร้างภาพ และคำถามในใจว่า รู้ได้อย่างไรว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้ ชิ้นงานแบบใหนที่มีคุณภาพและสะท้อนการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ หรือตามเป้าหมายที่กำหนด รู้ได้อย่างไรว่า ผู้เรียนเกิดความเข้าในที่พึงประสงค์


ขั้นตอนที่ 3 วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ความรู้และทักษะอะไร ที่จะช่วยให้นักเรียนมีความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไรที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ สื่อการสอนประเภทใด ชนิดใด จึงจะเหมาะสมสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว

วิธีการประเมินผลในหน่วยการเรียนรู้

ปุจฉา : วิธีการประเมินผลในหน่วยการเรียนรู้ กำหนดให้ประเมินโดยใช้เกณฑ์การประเมินเท่านั้น ถ้าใช้วิธีการที่หลากหลายจะได้หรือไม่

วิสัชนา :

การให้คะแนนแบบ rubrics scoring เป็นรูปแบบการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) และการกระเมินการปฏิบัติ (Performent Assessment) ที่อธิบายคุณภาพชิ้นงาน/ภาระงานในระดับต่างๆ วิธีการนี้ จะช่วยให้เห็นเส้นทางว่าเมื่อประเมินแล้วจะพัฒนาผู้เรียนต่อไปในทิศทางใดเป็นวิธีการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Assessment for learning) ซึ่งสามารถใช้กับวิธีการประเมินที่หลากหลายได้ ดังนั้นการประเมินที่หลากหลายนั้นเป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่งและหากจะเพิ่มคุณภาพการประเมิน ควรใช้การให้คะแนนแบบ rubrics scoring

วิธีการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่อง ได้แก่

1. การเลือกวิสัชนา:ที่ถูกต้อง ( Selected Response)
2. คำถามสั้น ๆ ( Constructed Response)
3. อัตนัย ( Essay)
4. ประเมินที่จัดขึ้นภายในโรงเรียน (School – related Product Performance)
5. ประเมินจากบริบทจริง ( Contextual Product/Performance)

6. สังเกต (Observation) คุณครูจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ จึงจะนำพาผู้เรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ได้

การประเมินผลโดยใช้เกณฑ์การประเมิน (Rubrics)

ปุจฉา : การประเมินผลโดยใช้เกณฑ์การประเมิน (Rubrics) เป็นอย่างไร ทำไมต้องทำ

วิสัชนา : 

การกำหนดประเด็นการประเมิน อาศัยข้อมูลจากสาระสำคัญของหน่วยการเรียนรู้ โดยสามารถพิจารณาทั้งในภาพรวม ( Holistic rubrics ) หรือแยกประเมินเป็นรายประเด็นย่อย (Analytic rubrics) เช่น สาระสำคัญ“กระบวนการเขียนประกอบ ด้วยการเขียน การตรวจสอบ การปรับปรุงงานเขียน และการเผยแพร่งานเขียน” ซึ่งสาระสำคัญนี้ ต้องสอนตามกระบวนการเขียน ซึ่งสาระสำคัญเราไม่สามารถประเมินผลงานเขียนของนักเรียนโดยตรง แต่ต้องประเมินผลงานที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนเข้าใจในกระบวนการเขียน เช่น

การเขียนหรืออธิบายสรุปขั้นตอนการเขียนงานที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดระดับคุณภาพ หรือ Rubrics จากตัวอย่าง อาจจะประเมินแยกเป็นแต่ละขั้นตอน ว่าผู้เรียนเขียนอธิบายกระบวนการเขียนได้ครบถ้วน หรือมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใด หรืออาจเขียนในภาพรวมของกระบวนการเขียนทั้งหมด คุณครูต้องศึกษาเพิ่มเติม

หลักการกำหนดจำนวนชิ้นงานหรือภาระงานในแต่ละหน่วยการเรียนรู้

ปุจฉา : หลักการกำหนดจำนวนชิ้นงานหรือภาระงานในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ จะดำเนินการอย่างไรให้นักเรียนบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

วิสัชนา :

ชิ้นงาน ภาระงานในหน่วยการเรียนรู้ เป็นร่องรอยที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ (Assessment for learning) คือการประเมินที่ให้ผลการมาตรฐานการเรียนรู้ ประเมินที่ได้ สามารถบอกได้ว่า จะต้องพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนไปในทิศทางใด ชิ้นงานภาระงานเป็นหลักฐานการเรียนรู้ รวบยอด (Cumulative evaluation) มีลักษณะการเก็บสะสมต่อเนื่องจนประมวลมาเป็นผลงานสุดท้ายเมื่อจบหน่วยการเรียนรู้ ใช้ในการสะท้อนว่า ผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย เกิดความรู้ ที่ฝังแน่นหรือไม่ ฉะนั้นครูผู้สอน จะต้องตั้งคำถามว่าอะไรคือ หลักฐานการเรียนรู้ที่บ่งบอกว่า ผู้เรียนเกิดคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนด

แบบ ปพ.1 พ.2 ปพ.3 ซื้อมาแล้วไม่ประสงค์จะใช้หรือเกิดการสูญหาย

ปุจฉาแบบ ปพ.1 .2 ปพ.3 ซื้อมาแล้วไม่ประสงค์จะใช้หรือเกิดการสูญหาย หรือเกิดจากการเขียน ผิดพลาด สกปรก ชำรุดเสียหาย จะต้องทำอย่างไร

วิสัชนา :

1) ซื้อมาแล้วไม่ประสงค์จะใช้ต้องเก็บรักษาไว้ตลอดไป

2) ซื้อมาแล้วเกิดการสูญหาย ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานเขตพื้นที่ จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วเสนอผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อลงนามในประกาศยกเลิกแบบพิมพ์ สถานศึกษาแจ้งประกาศยกเลิกถึงทุกกระทรวง ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ไม่ให้รับ ปพ.1 ดังกล่าว

3) ซื้อมาแล้ว เขียนผิดพลาด สกปรก ชำรุดเสียหายให้โรงเรียนดำเนินการดังนี้

      (1) ทำรายงานยกเลิก โดยระบุสาเหตุ เลขที่ และจำนวนแบบพิมพ์ที่เสียหายเสนอเขตพื้นที่
      (2) เขตพื้นที่แตงตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวน (กรณีแบบพิมพ์มีความเสียหายเพียงเล็กน้อยสามารถทำเครื่องหมายขีดฆ่า และเขียนข้อมูลที่ถูกต้อง โดยลงลายมือชื่อนายทะเบียนกำกับไว้ได้อาจไม่ต้องประกาศยกเลิก ทั้งนี้ขี้้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนหากคณะกรรมการเห็นสมควร ประกาศยกเลิกแบบพิมพ์ ให้เขตพื้นที่ทำรายงานขอยกเลิกแบบพิมพ ์ปพ.1 ฉบับที่เสียหายรายงาน ต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่พร้อมแนบประกาศยกเลิกแบบพิมพ์ ให้ลงนาม
     (3) เมื่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ ลงนามประกาศยกเลิกแบบพิมพ์แล้ว ให้เขตพื้นที่แจ้งประกาศยกเลิกถึงกระทรวง ทุกกระทรวง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตเพื่อแจ้งหน่วยงาน ในสังกัดไม่ให้รับพิจารณาระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ. 1) ที่ถกยกเลิกต่อไป

ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1)

ปุชฉา : ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) มีกี่แบบ

วิสัชนา :

3 แบบ คือ

1. ระเบียนแสดงผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษา (ปพ.1 : )

2. ระเบียนแสดงผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ปพ.1 : )


3. ระเบียนแสดงผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ปพ.1 : )

เอกสารหลักฐานการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สถานศึกษากำหนด

ปุชฉา : เอกสารหลักฐานการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่สถานศึกษากำหนด ได้แก่อะไรบ้าง


วิสัชนา :

เอกสารหลักฐานที่สถานศึกษากำหนด เป็นเอกสารที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกพัฒนาการ ผลการเรียนรู้ และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้เรียน เช่น แบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชา แบบรายงานประจำตัวนักเรียน ระเบียนสะสมใบรับรองผลการเรียน และเอกสารอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำเอกสารไปใช้

     1. แบบบันทึกผลการเรียนประจำรายวิชา เป็นเอกสารที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้สอนใช้บันทึกข้อมูล การวัดและประเมินผลการเรียนตามแผนการจัดการเรียนการสอนและประเมินผลการเรียน และใช้เป็นข้อมูล ในการพิจารณาตัดสินผลการเรียนแต่ละรายวิชา เอกสารนี้ควรจัดทำเพื่อบันทึกข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายห้อง

     2. แบบรายงานประจำ ตัวนักเรียน เป็ นเอกสารที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลผลการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียนแต่ละคนตามเกณฑ์การตัดสินการผ่านระดับชั้นตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมทั้งข้อมูลด้านอื่นๆ ของผู้เรียน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน เป็นเอกสารรายบุคคลสำหรับสื่อสารให้ผู้ปกครองของผู้เรียนแต่ละคนได้รับทราบผลการเรียนและพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียน และร่วมมือในการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

     3. ใบรับรองผลการเรียน เป็นเอกสารที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อรับรองสถานภาพความเป็นผู้เรียนในสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือรับรองผลการเรียน หรือวุฒิของผู้เรียนเป็นการชั่วคราวตามที่ผู้เรียนร้องขอ ทั้งกรณีที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนหรือเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว แต่กำลังรอรับหลักฐานการศึกษา ระเบียนแสดงผลการเรียน เป็นต้น ใบรับรองผลการเรียนมีอายุการใช้งานชั่วคราว โดยปกติประมาณ 30 วัน ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ เป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของผู้เรียนในการสมัครเข้าศึกษาต่อ สมัครเข้าทำงาน หรือเมื่อมีกรณีอื่นใดที่ผู้เรียนแสดงคุณสมบัติเกี่ยวกับวุฒิความรู้ หรือสถานภาพการเป็นผู้เรียนของตน

      4. ระเบียนสะสม เป็นเอกสารที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ เป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 12 ปี ระเบียนสะสมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการแนะแนวทางการศึกษาและการประกอบอาชีพของผู้เรียน การพัฒนาปรับปรุงบุคลิกภาพ การปรับตัวของผู้เรียน และผลการเรียน ตลอดจนรายงานกระบวน การพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนระหว่างสถานศึกษากับบ้าน และใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เรียนตามความเหมาะสม

เอกสารหลักฐานการศึกษา ที่กระทรวงศึกษากำหนด

ปุชฉา : เอกสารหลักฐานการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่กระทรวงศึกษากำหนด ได้แก่อะไรบ้าง

วิสัชนา :

เอกสารหลักฐานที่กระทรวงศึกษากำหนด เป็นเอกสารที่กระทรวงศึกษาธิการควบคุมและบังคับแบบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ ยืนยัน และรับรองผลการเรียนของผู้เรียน สถานศึกษาต้องใช้แบบพิมพ์ของกระทรวงศึกษาธิการและดำเนินการจัดทำตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่

1. ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) เป็นเอกสารสำหรับบันทึกข้อมูลผลการเรียนของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้แก่ ผลการเรียนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน ผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และผลการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษาจะต้องจัดทำ และออกเอกสารนี้ให้ผู้เรียนเป็นรายบุคคล เมื่อผู้เรียนจบการศึกษาแต่ละระดับ หรือเมื่อผู้เรียนออกจากสถานศึกษาในทุกกรณี เพื่อใช้แสดงผลการเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

2. ประกาศนียบัตร (ปพ.2) เป็นเอกสารแสดงวุฒิการศึกษาที่มอบให้แก่ผู้จบการศึกษาภาคบังคับและผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อรับรองศักดิ ์และสิทธิ ์ ของผู้สำเร็จการศึกษาตามวุฒิแห่งประกาศนียบัตรนั้น

3. แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา (ปพ.3) เป็นเอกสารสำหรับอนุมัติการจบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของผู้เรียนในแต่ละรุ่นการศึกษา โดยบันทึกรายชื่อและข้อมูลทางการศึกษาของผู้จบการศึกษา ระดับประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6) ผู้จบการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) และผู้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) ใช้เป็นเอกสารสำหรับตัดสินและอนุมัติผลการเรียนให้ผู้เรียนเป็นผู้สำเร็จการศึกษา และใช้ในการตรวจสอบยืนยัน และรับรองความสำเร็จและวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาแต่ละคนตลอดไป